Sanipro (Thailand) Co., Ltd.

ซานิโปร มาตรฐานญี่ปุ่น,แม่นยำ,ซื่อสัตย์

อันตรายจากผึ้ง

ผึ้ง จัดเป็นแมลงชนิดหนึ่งอาศัยรวมกันอยู่เป็นฝูง โดยส่วนใหญ่จะออกหาอาหารเป็นน้ำหวานจากเกสรของดอกไม้ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อพืชในการผสมพันธุ์ ผึ้งทำงานกันเป็นระบบ มีผึ้งนางพญาเป็นหัวหน้าใหญ่

ลักษณะทั่วไปของผึ้ง แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ

  1. ส่วนหัว ประกอบด้วยอวัยวะรับความรู้สึกต่าง ๆ ที่สำคัญ คือ ตารวม มีอยู่ 2 ตา ประกอบด้วยดวงตาเล็ก ๆ เป็นรูปหกเหลี่ยมหลายพันตา รวมกัน เชื่อติดต่อกันเป็นแผง ทำให้ผึ้งสามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้รอบทิศ ตาเดี่ยว อยู่ด้านบนส่วนหัว ระหว่างตารวมสองข้าง เป็นจุดเล็ก ๆ 3 จุด อยู่ ห่างกันเป็นรูปสามเหลี่ยม ซึ่งตาเดี่ยวนี้จะเป็นส่วนที่รับรู้ในเรื่องของความเข้มของแสง ทำให้ผึ้งสามารถแยกสีต่าง ๆ ของสิ่งของที่เห็นได้ ฟริช ดาร์ล ฟอน ได้ทำการศึกษาและพบว่าผึ้งสามารถเห็นสีได้ 4 สี คือ สีอุลต้าไวโอเลต สีฟ้า สีฟ้าปนเขียว และสีเหลือง ส่วนช่วงแสงที่มากกว่า 700 มิลลิไมครอน ผึ้งจะมอบเห็นเป็นสีดำ หนวด ประกอบข้อต่อและปล้องหนวดขนาดเท่า ๆ กันจำนวน 10 ปล้อง ประกอบเป็นเส้นหนวด ซึ่งจะทำหน้าที่รับความรู้สึกที่ไวมาก
  2. ส่วนอก จะกอบด้วยปล้อง 4 ปล้อง ส่วนด้านล่างของอกปล้องแรกมีขาคู่หน้า อมปล้องกลางมีขาคู่กลางและด้านบนปล้องมีปีกคู่หน้าซึ่งมีขนาดใหญ่หนึ่งคู่ ส่วนล่างอกปล้องที่ 3 มีขาคู่ที่สามซึ่งขาหลังของผึ้งงานนี้จะมีตระกร้อเก็บละอองเกสรดอกไม้ และด้านบนจะมีปีกคู่หลังอยู่หนึ่งคู่ที่เล็กกว่าปีกหน้า
  3. ส่วนท้อง ส่วนท้องของผึ้งงานและผึ้งนางพญาเราจะเห็นภายนอกเพียง 6 ปล้อง ส่วนปล้องที่ 8-10 จะหุบเข้าไปแทรกตัวรวมกันอยู่ในปล้องที่ 7 ส่วนผึ้งตัวผู้จะเห็น 7 ปล้อง

วรรณะของผึ้ง เป็นแมลงสังคมที่แบ่งออกเป็น 3 วรรณะคือ

ผึ้งนางพญา (The Queen)

ผึ้งนางพญาสามารถแยกออกจากผึ้งตัวผู้ และผึ้งงานได้โดยง่าย เพราะผึ้งนางพญาจะมีขนาดใหญ่ และมีลำตัวยาวกว่าผึ้งตัวผู้และผึ้งงาน ปีกของผึ้งนางพญาจะมีขนาดสั้น เมื่อเทียบกับความยาวของลำตัว เนื่องจากส่วนท้องของผึ้งนางพญาจะค่อนข้างเรียวยาว ดูแล้วมีลักษณะคล้ายกับตัวต่อ ผึ้งนางพญาจะมีเหล็กไน ซึ่งมีไว้สำหรับต่อสู้กับนางพญาตัวอื่นเท่านั้น ไม่เหมือนผึ้งงานที่ใช้เหล็กไนไว้ทำร้ายศัตรู การเคลื่อนไหวของผึ้งนางพญาค่อนข้างเชื่องช้า ในรังผึ้งนางพญาที่ถูกผสมพันธุ์แล้วเรามักจะพบอยู่บริเวณรวงผึ้งที่มีตัวอ่อนอยู่ภายในหลอดรวง นางพญาจะถูกห้อมล้อมด้วยผึ้งงาน โดยผึ้งงานจะใช้หนวดแตะหรือใช้ลิ้นเลียตามตัวผึ้งนางพญา ผึ้งงานเหล่านี้ทำหน้าที่คอยให้อาหาร ทำความสะอาดและนำของเสียที่ผึ้งนางพญาขับถ่ายออกไปทิ้ง นอกจากนั้นผึ้งงานยังรับเอาสารที่ผึ้งนางพญาผลิตออกมา แล้วส่งต่อให้ผึ้งงานตัวอื่น ๆ หรือใช้ปีกกระพือให้กลิ่นของสารแพร่กระจายไปทั่วรังผึ้ง

ผึ้งตัวผู้ (The Drone)

 ผึ้งตัวผู้จะมีขนาดใหญ่และตัวอ้วนกว่าผึ้งนางพญาและผึ้งงาน แต่จะมีความยาวน้อยกว่าผึ้งนางพญา ผึ้งตัวผู้จะไม่มีเหล็กไน ลิ้นจะสั้นมาก มีไว้สำหรับคอยรับอาหารจากผึ้งงาน หรือดูดกินน้ำหวานจากที่เก็บไว้ในรวงเท่านั้น ผึ้งตัวผู้จะไม่มีการออกไปหาอาหารกินเองภายนอกรัง ผึ้งตัวผู้ไม่มีที่เก็บละอองเกสร เป็นที่ทราบกันดีว่าผึ้งตัวผู้มีหน้าที่อย่างเดียวภายในรัง คือผสมพันธุ์ ผึ้งตัวผู้จะไม่ทำงานอะไรทั้งสิ้นภายในรัง ปริมาณของผึ้งตัวผู้ภายในรังไม่แน่นอน อาจมีได้ตั้งแต่ศูนย์ถึงหลายพันตัวขึ้นกับฤดูกาล
ผึ้งตัวผู้จะเจริญมาจากไข่ที่ไม่ได้รับการผสม (Un-fertilized egg) เมื่อตัวอ่อนของผึ้งตัวผู้โตเต็มที่ ผึ้งงานก็จะมาปิดฝาหลอดรวงด้วยไขผึ้ง ผึ้งตัวผู้ก็จะเข้าดักแด้อยู่ภายใน เมื่อครบกำหนดก็จะกัดไขผึ้งที่ปิดฝาออกมาเป็นตัวเต็มวัย อายุประมาณ 16 วัน พร้อมที่จะผสมพันธุ์ได้

ผึ้งงาน (The Worker)

ผึ้งงานเป็นผึ้งที่มีขนาดเล็กที่สุดภายในรังผึ้ง แต่มีปริมาณมากที่สุด ผึ้งงานถือ กำเนิดมาจากไข่ที่ได้รับการผสมกับเชื้อตัวผู้ (Fertilized egg) ผึ้งงานเป็นเพศเมีย เช่นเดียวกับผึ้งนางพญา แต่เป็นเพศเมียที่ไม่สมบูรณ์ คือส่วนของรังไข่จะมีขนาดเล็กไม่สามารถสร้างไข่ได้ ยกเว้นในกรณีที่รังผึ้งรังนี้เกิดขาดนางพญาขึ้นมาก็พบว่า อาจมีผึ้งงานบางตัวสามารถวางไข่ได้ (Laying Worker) แต่ไข่ที่วางจะเป็นไข่ที่เป็นผึ้งตัวผู้

ความอันตรายจากผึ้ง

ผึ้งงานจะมีอวัยวะที่เรียกว่าเหล็กไน (sting) ซึ่งดัดแปลงมาจากอวัยวะที่ใช้ในการวางไข่ (ovipositor) โดยจะต่อกับถุงพิษ (venom sac) ซึ่งอยู่ภายในช่องท้องในระหว่างที่ผึ้งต่อย กล้ามเนื้อในช่องท้องจะบีบให้พิษออกมาจากถุงพิษเข้าสู่เหล็กไน  เมื่อผึ้งต่อยมันจะปล่อยเหล็กไนรวมทั้งถุงพิษออกมา แล้วตัวมันก็ตาย พิษของผึ้งจะประกอบไปด้วยโปรตีนที่เรียกว่า melitin เป็นองค์ประกอบสำคัญ (ประมาณ 50% ของพิษ) melitin นี้มีผลทำให้เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และ lysosome แตก
ผลตามมาก็คือมีการหลั่งของเอ็นไซม์ต่างๆ  และรวมทั้ง histamine จากเซลล์ที่มีการแตกนี้ นอกจากนี้ยังมีโปรตีนชนิดอื่นๆ เป็นองค์ประกอบอยู่ เช่น apamine ซึ่งมีพิษต่อระบบประสาท hyluronidase ซึ่งมีผลทำให้พิษแพร่กระจายได้เร็วขึ้น และ phospholipase ซึ่งเชื่อว่าเป็นสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้  ผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากผึ้งต่อยนั้น  ส่วนใหญ่ไม่ได้เสียชีวิตเพราะพิษของผึ้ง แต่เสียชีวิตจาก anaphylaxis

การรักษาอาการผึ้งต่อย

 

สำหรับผู้ที่มีอาการเพียงเล็กน้อยหลังถูกผึ้งต่อย อาจปฐมพยาบาลอาการในเบื้องต้น และบรรเทาความเจ็บปวดได้ ดังนี้

  1. หากเหล็กในอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นได้ชัด ผู้ป่วยควรพยายามบีบผิวโดยรอบเพื่อดันเหล็กในออกมาให้เร็วที่สุด
  2. ล้างทำความสะอาดผิวบริเวณที่ถูกผึ้งต่อยด้วยสบู่และน้ำสะอาด
  3. ใช้น้ำแข็งหรือผ้าเย็นวางประคบในบริเวณนั้น
  4. หากถูกผึ้งต่อยบริเวณแขนหรือขา ให้ยกแขนหรือขาขึ้น หรือวางแขนขาไว้บนระดับที่สูงกว่าปกติ
  5. หากสวมใส่เครื่องประดับอยู่ ให้ถอดเครื่องประดับออก เพราะอาจเกิดอาการบวมจนยากต่อการถอดเครื่องประดับในภายหลัง
  6. ไม่เกาบริเวณที่ถูกผึ้งต่อย เพราะจะยิ่งทำให้อาการแย่ลง และเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ
  7. บรรเทาอาการปวดด้วยการรับประทานยาแก้ปวดที่หาซื้อได้ตามร้านขายยา เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน แอสไพริน (ห้ามใช้แอสไพรินในผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปีเด็ดขาด)
  8. รักษาอาการที่เกิดบนผิวหนัง เพื่อลดอาการบวมแดงและอาการคัน ด้วยการทายาไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) คาลาไมน์ (Calamine) ผสมเบกกิ้งโซดากับน้ำเปล่า หรือรับประทานยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) เช่น ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) หรือ คลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine)

ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาทันที โดยแพทย์อาจใช้วิธีการรักษาอาการ ดังนี้

  1. ให้ยาหรือฉีดยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) และคอร์ติโซน (Cortisone) เพื่อลดอาการแพ้ที่เกิดขึ้น และอาการอักเสบภายในทางเดินหายใจ ลดภาวะหลอดลมตีบ หรือมีเสมหะในทางเดินหายใจจากฮีสตามีน
  2. ฉีดเอพิเนฟรีน โดยเฉพาะในรายที่มีปฏิกิริยาแพ้อย่างรุนแรง (Anaphylaxis) เพื่อรักษาและลดการเกิดอาการแพ้ที่เป็นอันตราย
  3. พ่นยาขยายหลอดลม (Beta agonist) เช่น อัลบูเทอรอล เพื่อบรรเทาอาการหลอดลมตีบจากปัญหาการหายใจ
  4. ให้ออกซิเจน แพทย์อาจต้องให้ออกซิเจนเพื่อช่วยในการหายใจแก่ผู้ป่วยที่มีปัญหาการหายใจอย่างรุนแรงจากอาการแพ้
  5. ทำซีพีอาร์ หรือปฏิบัติการช่วยชีวิต (Cardiopulmonary Resuscitation: CPR) ในผู้ป่วยที่หยุดหายใจ
  6. แพทย์อาจฉีดสารภูมิคุ้มกันบำบัดให้ ซึ่งผู้ป่วยต้องมาฉีดเรื่อย ๆ ทุก 2-3 ปี เพื่อรักษาและลดปฏิกิริยาตอบสนองต่อพิษจากเหล็กในผึ้ง
Previous Post
Newer Post

At vero eos et accusamus et iusto odio digni goikussimos ducimus qui to bonfo blanditiis praese. Ntium voluum deleniti atque.