แมลงทับเป็นแมลงที่จัดอยู่ใน อันดับ Coleoptera ถือเป็นแมลงกลุ่มแมลงปีกแข็ง มีลำตัวยาวโค้งนูน มีลักษณะเด่นคือมีสีสันสวยงาม มีหลากหลายสี เช่น สีน้ำเงิน, สีแดง, สีดำ, และ สีเหลือง จัดเป็นแมลงสวยงามที่สุดชนิดหนึ่ง จึงนิยมนำมาใช้ประโยชน์หลักในด้านการตกแต่ง และเป็นเครื่องประดับ อาทิ ใช้ปีกตกแต่งเสื้อผ้า โต๊ะ เก้าอี้ และใช้ทำเครื่องประดับต่างๆ อาทิ ตุ้มหู ปิ่นปักผม เข็มกลัด เป็นต้น นอกจากนั้น ตัวแมลงทับยังใช้ประกอบอาหารได้ในหลายเมนู อาทิ แมลงทับคั่วเกลือ ป่นแมลงทับ และแกงหน่อไม้ใส่แมลงทับ เป็นต้น
ภาพตัวอย่าง แมลงทับ
แหล่งที่พบ
แมลงทับ เป็นแมลงที่พบได้ในทุกภาค แต่พบมากในภาคกลาง เหนือ และอีสาน มีชนิดที่พบทั้งหมด 2 ชนิด คือ แมลงทับขาแดง (Sternocera ruficornis Saunders) และแมลงทับขาเขียว (Sternocera aeguisignata Saunders) พบได้ทั้งในป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง แต่พบได้มากในป่าเต็งรัง โดยแมลงทับตัวเต็มวัยจะพบ อาศัยอยู่บนต้นไม้บริเวณกิ่งก้าน และยอดไม้ แมลงทับตัวเต็มวัยจะพบตามต้นไม้ สามารถพบได้มากในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ซึ่งจะเริ่มผสมพันธุ์ และวางไข่ในช่วงเดือนกันยายน
แหล่งอาหาร
อาหารของระยะหนอนจะกินรากพืชหรือรากต้นไม้เป็นอาหาร รวมถึงซากพืชที่อยู่ในดิน นอกจากนั้น ยังชื่นชอบกินใบอ่อนของพืชบางชนิดที่เป็นพืชพุ่มเตี้ยหรือพืชระดับล่าง อาทิ ไผ่เผ็ก ไผ่โจด เป็นต้น ส่วนแมลงทับตัวเต็มวัยจะกินใบอ่อนของไม้พืชชนิดต่างๆ เป็นอาหาร อาทิ ไผ่เผ็ก ใบมะม่วง ใบมะขามเทศ ใบใบจิก ใบพันชาด ใบมะค่าแต้ ใบเสี้ยวใบมะม่วงหิมพานต์ และใบกระถินณรงค์ ใบกระบก ใบประดู่ ใบตะแบก เป็นต้น
ประโยชน์
- แมลงทับใช้ประกอบอาหารในเมนูต่างๆ อาทิ แมลงทับคั่วเกลือ แมลงทับย่างไฟ ป่นแมลงทับ และแกงหน่อไม้ใส่แมลงทับ เป็นต้น
- ปีกแมลงทับมีหลากหลายสี มีความแวววาว และมีความคงทน จึงนิยมใช้ประดับตกแต่งผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ กะติ๊บข้าวหรือกล่องข้าว ตระกร้า กระเป๋า เสื้อผ้า โต๊ะ เก้าอี้ หรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ รวมถึงเครื่องประดับต่างๆ อาทิ ตุ้มหู ปิ่นปักผม เข็มกลัด เป็นต้น
- ในด้านระบบนิเวศ แมลงทับในระยะตัวหนอนเป็นตัวช่วยในการย่อยสลายซากพืช และมูลที่ขับถ่ายออกมาจะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน
ภาพงานฝีมือจากแแมลงทับ
ภาพเครื่องประดับจากแมลงทับ
ภาพเครื่องประดับจากแมลงทับ
ภาพงานฝีมือจากแแมลงทับ